Thai B-boy History

วันนี้จะมาพูดถึงประวัติของ B-boy ในประเทศไทยว่าเข้ามาได้อย่างไร
อาจจะไม่ละเอียดนักแต่ผมสามารถเล่าได้คร่าวๆตามความรู้ของผมที่ได้เรียนรู้
และรู้จากหลายๆคนมาบ้านเราเริ่มมีการเต้น Breakdance เข้ามาตั้งแต่สมัยช่วง
สงครามเวียตนามครั้งที่ประเทศอเมริกาอาศัยบ้านเราเป็นฐานพักกำลังชั่วคราว
คาดว่านะจะเข้ามาจากทหารอเมริกันนำมาเต้นกันในยุคนั้นซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า
ครั้งแรกของการมี B-boy หรือ Breakdance ในประเทศไทย แต่ข้อมูลนี่ยังไม่มี
การพิสูจน์ทราบแน่ชัดแต่สามารถเป็นกรณีสังเกตุได้
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2528 (1985) การเต้น Breakdance ก็ได้มีความนิยมแพร่หลาย
ด้วยแนวดนตรีในยุคนั้นซึ่งมีอิทธิพลต่อเด็กวัยรุ่นในสมัยนั้นมาก จึงมีท่าที่นิยมเล่นต่างๆ
มากมายซึ่งได้แก่ ท่ากังหัน(Windmill) ,ท่าหนอน(Worm) , Wave (การเต้น wave
ใน style Popping ),Robot (การทำท่าเลียนแบบหุ่นยนตร์) เป็นต้น ส่วนมากวัยรุ่น
ในสมัยนั้นจะเต้นกันแบบเต้นได้คนละท่าสองท่า เพื่อเอาไว้อวดสาว
และใช้เต้นเพื่อความสนุกสนานไปตามยุคสมัยไม่ได้ทำจนเป็นจริงจัง
สมัยก่อนยังไม่มีคำว่า Breaking ใช้แต่คำว่า Breakdance เป็นชื่อเรียกของสื่อในอเมริกา
ยุคนั้นเป็นช่วงที่วง Rock Steady crew ก็กำลังมี อัลบั้มเป็นของตัวเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง
ที่มีอิทธิพลมากสำหรับ Pop culture ในยุคนั้น

ต่อมามีนักเต้นหลายคนนำมาพัฒนาจนกลายเป็นอาชีพ ทั้งนำไปเต้น
ในคลับ
และนำมาเต้นบนเวทีกับศิลปิน ซึ่งมีพี่ๆอยู่หลายต่อหลายคน
พี่ต้น DC, พี่ต้อมหนวด และ พี่เล็ก ซึ่งหลายท่านที่ผมกล่าวถึงนี้
ได้เป็นผู้ที่ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นแรงบรรดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆในเวลาต่อมา

 

ประวัติในกรุงเทพฯ

 

MBK ชั้น 7 และ Kob Skate shop

ถ้าพูดถึงในกรุงเทพฯแล้วมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการเต้น B-boy
มาเป็นเวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่ที่แรกที่ผมเคยเห็นคือ ที่ ศูนย์การค้า
MBK ชั้น 7 บริเวณ ลานหน้าร้าน “KOB SKATE SHOP”
ซึ่งเป็น
สถานที่ๆเด็กสเก็ต(เด็กที่เล่นสเก็ตบอร์ด) และ B-boy มักจะมารวมตัวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเย็นของทุกๆวันเสาร์และอาทิตย์ ประมาณ
5 โมงเย็นไปจนถึงดึก ก็จะมี B-boy มารวมตัวกันเพื่อซ้อมเต้น
แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีเยอะมาก มีราวๆ 10-15 คน ได้ แต่ในช่วงนั้น
แค่นี้ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว กลุ่มที่อยู่บริเวณนั้นแรกๆ มีชื่อว่า
New school breaker เป็นทีมที่ถือได้ว่าเป็นที่แรกๆที่เรา
สามารถเห็นได้ในตอนนั้น โดยมีหัวหน้าทีมชื่อว่า
“พี่ตั้ม (Chris Newschool)”  และอีกทีมที่ขาดไม่ได้ คือ
ทีม “Spin Control crew” เป็นทีมที่เป็นรุ่นถัดมา
ซึ่งทั้งสองทีมได้สร้างชื่อเสียงมากมายให้กับวงการ
การเต้น B-boy
ในยุคนั้นจนเป็นที่รู้จัก เช่นงาน ประกวดเต้นของ
 ” Channel [V] Street Hi-Fi “ เป็นต้น

สมัยนั้น B-boy เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเด็กรุ่นใหม่
แต่แค่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ยุคนั้นเป็นยุคแรกๆเลยก็ว่าได้
ต่อมาได้มีการรวมกลุ่มกันจนกลายเป็นชื่อทีมใหม่ว่า “662 Breakerz”
ต่อมามีการแยกกลุ่มออกมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า “BTS” เนื่องจาก
เรียกกันตามชื่อสถานที่ซ้อมเต้นบริเวณบนสะพานคนเดิน Skywalk
ตรงหน้าห้าง Tokyo (MBK) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สถานีรถไฟฟ้า BTS
“สนามกีฬาแห่งชาติ” กลุ่มนี้ถูกเรียกว่ากลุ่ม BTS ตามชื่อสถานี่ซ้อม
ซึ่งมักจะมีการผิดใจกับกลุ่มที่อยู่บนชั้น 7 ของ MBK อยู่บ่อยๆ
จนเกิดการ Battle อยู่บ่อยครั้ง เป็นที่รู้กันในหมู่ B-boy ว่าคนที่ซ้อมชั้น 7
จะไม่ยุ่งกับคนที่ซ้อมที่ BTS และคนที่ซ้อม ที่ BTS ก็จะไม่ไปยุ่งกับคนที่
ซ้อมชั้น 7 เช่นกัน ตามประสาของวัยรุ่นเพียงเท่านั้นกลุ่มที่ซ้อมอยู่ตรง BTS นี้มีหลายกลุ่มด้วยกัน คือ ทีม C-Cool และ
 Platinum crew ในเวลาต่อมาสถานที่นี้ได้กลายเป็นสถานที่ซ้อม
ของกลุ่มหลายกลุ่ม ซึ่งมาผลัดเปลี่ยนกันใช้มานานนับ 10 ปีป้อมพระสุเมรุ
เมื่อเวลาได้ผ่านไป ได้มีกลุ่มใหม่ที่แยกตัวออกมาจากชั้น 7 MBK
ไปซ้อมอีกที่หนึ่งแต่กลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับใครเพียงแต่อยากซ้อม
ในที่ๆใหม่เท่านั้นกลุ่มนั้น มีชื่อว่า “Style Triple F” ซึ่งมีสมาชิก 3 คน
หลักๆ คือ พี่มล (M-mon) ,พี่ต๊อบ (Tob) และ พี่โอมาน (Oman)
ซ้อมกันอยู่ที่สวนสันติชัยปราการ หรือเรียกอีกชื่อว่า “ป้อมพระสุเมรุ”
บริเวณ ถนนพระอาทิตย์ ใกล้ๆตรอกข้าวสาร กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง
ที่เปลี่ยนแปลงภาพรวมของB-boy ไปอีกรูปแบบเลยทีเดียว
เนื่องจากได้มีการทำท่า Footwork กันมาก ในกลุ่มนี้จึงเกิด
เป็นการกระตุ้นให้เด็กที่ฝึกใหม่อยู่ที่ป้อมพระสุเมรุได้มีการฝึกการเต้น
Basic ที่ถูกวิธีมากขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนการเต้น B-boy มีแต่การทำ
ท่า Powermove และ Freeze เป็นส่วนใหญ่การทำ Footwork
ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดไปมากเหมือนปัจจุบัน แต่ที่นี่เป็นที่แรกๆ
ที่เห็นความสำคัญของ Basic ตรงนี้เป็นอย่างมาก จึงเป็นที่แรก
ที่ให้แรงบรรดาลใจกับคนที่เต้นในยุคนั้นและยุคต่อมาเกิดการ
เปลี่ยนแปลงการ Battle ใน สมัยนั้น การเต้นในสมัยนั้นการซ้อม
อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอก็จะมีการ Battle กันในบางโอกาส เป็นการ
Battle กันเองบ้างหรือบางครั้งเป็นการท้าทายจากกลุ่มอื่นบ้างก็มี
การ Battle ในสมัยก่อนค่อนข้างจะเอาเป็นเอาตาย ไม่ใช่การ Battle กัน
แบบเล่นๆแต่เป็นการ Battle เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าใครดีกว่าจริงๆ
ดังนั้นการ Battle จึงไม่ใช่การจับคู่กันสนุกๆอย่างเดียวเมื่อเกิดการ
ท้าทายกันขึ้นโดนส่วนมากจะ Battle กันแบบตายไปข้างนึง
แบบครึ่งชั่วโมงก็ไม่จบ มีพักยกแล้วเอาต่อก็มี ไม่ยอกเลิกราง่ายๆ
จนกว่าอีกฝ่ายจะท่าหมดหรือหมดแรงไปในที่สุด

 

การแข่งขันในยุคแรก
การแข่งขันสมัยก่อนมีน้อยมากซึ่งส่วนมากจะเป็นการแข่งขันที่
จัดกันตาม Hip-Hop ปาร์ตี้ในคลับและมักจะเป็นการจัดปาร์ตี้ที่มี
MC ,DJ,Graffitti และ B-boy อยู่จริงๆซึ่งทุกคนจะได้คุยกันแชร์
ความคิดกันซึ่งเป็นการอยู่ร่วม 4 Elements กันจริงซึ่งเดี๋ยวนี้
ค่อนข้างหายากแล้ว และการแข่งขันบางครั้งก็มักจะจัดกันเอง
โดยมีเงินรางวัลไม่มากนักเช่น การแข่งขันที่สะพานพุทธ เป็นต้น

ต่อมามีการพัฒนาซึ่งส่งเสริมจาก Sponsor ที่เป็นผู้จัดจริงๆ
ซึ่งได้แก่ งาน Seacon square หลายๆครั้งทั้งแบบ 3 vs 3
และแบบเดี่ยว ซึ่งจะมีการจัดการแข่งขันกันอยู่เป็นประจำ
หรือแม้แต่ตามงานแข่ง Graffiti หรือจักรยาน Flat land
ก็มักจะมีการแข่งขัน B-boy ควบคู่ อยู่ เช่นกัน

การแข่งขันระดับประเทศ
การแข่งขันระดับประเทศได้เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก
คืองาน“Chiclet Seacon 3 on 3 B-boy Battle”

ซึ่งเฟ้นหาเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อไปแข่งขันและ
ไปหาประสบการณ์ต่อที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ผู้ชนะ
คือ ทีม Pised crew (พิเศษ crew Cheno,Oman,Mmon)
ต่อมาได้มีการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้นเรียกว่าการแข่งขัน
Battle of the year Thailand  โดยมี พี่กิ๊ก ปรวรรษธ กฤษณมะระ
เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ BATTLE OF THE YEAR THAILAND
& SOUTHEAST ASIA 
นับตั้งแต่ปี 2004 เรื่อยมา แต่เมื่อปี 2008
พี่กิ๊กได้จากเราไปด้วยอาการป่วยเป็นโรคมะเร็ง ในวันที่ 1 สิงหาคม
พี่กิ๊กได้สร้างงานนี้ขึ้นมาให้กับเด็กๆ B-boy รุ่นหลังเพื่อจะ
ได้เป็นแรงผลักดันเยาวชน B-boy ,B-girl ต่อไปมาจนถึงทุกวันนี้

การจัดงาน Battle of the year Thailand ตั้งแต่ที่เคยมีมา

BOTY SEA 2004
1) TBC (Taiwan)
2) Spin Control (Thailand)
3) Ground Scatter crew (Thailand)

BOTY Thailand 2005
1) Ground Scatter crew
2) 662 (Spin Control crew)
3) Evertrack Force crew

BOTY Thailand 2006
1) Ground Scatter crew
2) Spin Control crew
3) Platinum crew

BOTY Thailand 2007
1) Ground Scatter crew
2) Platinum crew
3) One Piece crew

BOTY Thailand 2008
1) Romeo Serious crew
2) BeatHeroes crew
3) Prasumain crew

BOTY Thailand 2009
1) 99Flava crew
2) Romeo Serious crew
3) Platinum crew

BOTY Thailand 2010
1) 99Flava crew
2) Romeo Serious crew
3) One Piece crew

 

การสร้างชื่อเสียงระดับ International ของ B-boy ไทย

การสร้างชื่อเสียงของ B-boy ไทยที่เด่นชัดที่สุดเริ่มมีมาตั้งแต่
สมัย ปี 2005 ,2006 และ 2007 จากการคัดเลือกตัวแทนซึ่งเป็น
แชมป์ประเทศไทย ประเภททีม จากงาน  BATTLE OF THE
 YEAR THAILAND ทำให้ทีมไทยได้เป็นตัวแทนภูมิภาค
South East Asia  ถึง ในปี 2005 ไปแข่งขันงาน
Battle of the year International 2005 ที่ เมือง Braunswiege
ประเทศ Germany ได้อันดับที่ 11 จาก 20 ประเทศทั่วโลก
ในปีแรก (2005) และ ปีถัดมา คือปี 2006 ทีมไทยได้เป็นตัวแทน
ภูมิภาค South East Asia อีกครั้งไปแข่งขันงาน
Battle of the year International 2006 ที่ เมือง Braunswiege
ประเทศ Germany เป็นครั้งที่ 2 และได้อันดับ
ที่ 10 จาก 20 ประเทศทั่วโลกกลับมา และปีสุดท้ายคือ 2007
ทีมไทยได้ติด 1 ใน 3 ทีม จากงาน Battle of the year Asia 2007
โดยจัดที่กรุง Busan ประเทศเกาหลี  และเป็นตัวแทน ประเทศจาก
ทวีปเอเชีย ซึ่งได้แก่ เกาหลี, ญี่ปุ่น และ ไทย ไปแข่งขันที่งาน
Battle of the year International 2007 ที่ เมือง Braunswiege
ประเทศ Germany เป็นครั้งที่ 3 และได้
อันดับที่ 5 จาก 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ
ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทีมนี้เป็นแชมป์ประเทศไทยติดต่อกัน
ถึง 3 สมัยซ้อนทีมนี้มีชื่อว่า “Ground Scatter Crew”

นอกเหนือจากนั้นยังมีงานแข่งที่คนไทยเราไปแข่งมาแล้ว
ชนะเลิศมาด้วยได้แก่“Circle Prinz Japan 2010”
ซึ่งบ้านเราได้เป็นทีมที่ถูกเชิญไปแล้วชนะกลับมา

โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
ไปแข่งขันต่อที่งาน
 “Circle Kingz 2010” ที่เมือง Lausanne
ประเทศ Switzerland และติด 1 ใน 8 ทีม อีกด้วย คือ

B-boy Cheno และ B-boy Gonza  จากทีม 99Flava crew

อันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ ขอให้ทุกท่านจดจำ
แต่สิ่งดีๆของมันและเดินรอยตามมันสิ่งไหนที่ไม่ดีที่ผิดพลาด
ก็เก็บไว้เตือนสติ ทุกๆคนที่เป็น B-boy ,B-girl ที่อยู่ที่นี้ล้วน
สร้างประวัติศาสตร์ไว้ให้กับคนรุ่นต่อๆไป ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถ
ที่จะให้อะไรกับสังคมของเราและคนอื่นๆได้มากน้อยแค่ไหน
จากสิ่งที่เราเป็น คนทุกๆคนล้วนมีคุณค่าสามารถสร้างประโยชน์
ได้มากมายไม่ใช่เพียงกลุ่มใดหรือใครคนหนึ่ง เรามาช่วยกัน
สร้างประวัติศาสตร์ที่สวยงามและน่าจดจำให้กับโลกใบนี้กันเถอะครับ !

– B-boy Cheno / 99Flava

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *